ขนมไทย เป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม ความประณีตในการปรุงแต่งและรสชาติที่ไม่เหมือนขนมชาติอื่นๆ ขนมไทยนั้นมีทั้งขนมหวานและเครื่องว่างที่มีรสชาติไปทางอาหารคาว แต่มีขนาดเล็กและเสิร์ฟระหว่างมื้ออาหาร ขนมไทยที่มีรูปลักษณ์แปลกตาและความหลากหลาย โดยมากมีที่มาจากในวัง เพราะมีเจ้านายจากหัวเมืองต่างๆที่หลากหลาย และมีต้นเครื่องที่มีความรู้ในการประกอบอาหารเครื่องคาวหวานจากพื้นที่ต่างๆกัน หรือการนำความรู้การประกอบอาหารต่างชาติมาประยุกต์ให้เข้ากับเครื่องไทย
วันนี้เราจะนำสูตรการปรุงขนมไทย 9 สูตร ล้วนแล้วแต่เป็นขนมที่หาทานไม่ได้ง่ายโดยทั่วไป เพราะเป็นขนมที่มีที่มาจากในวังและมีความประณีตในการปรุง หรือบางอย่างไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทำให้มีคนสนใจรับประทานไม่มาก จึงไม่ได้รับความนิยม แต่รับรองได้ว่าทุกสูตรล้วนแล้วแต่อร่อย
9 สูตรขนมไทยโบราณ หากินยาก
1. ขนมสัมปันนี
สัมปันนีเป็นขนมไทยโบราณ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามคำบอกเล่าว่าเป็นขนมที่ท้าวทองกีบม้าเป็นคนคิดค้นขึ้น ปัจจุบันหาทานยาก ลองมาดูกันว่าสูตรการทำขนมสัมปันนีจะยากง่ายแค่ไหน
ส่วนผสม ขนมสัมปันนี
- แป้งมันคั่ว 345 กรัม
- น้ำกะทิ 150 มล.
- น้ำตาลทราย 100 กรัม
- กลิ่นมะลิ 1/4 ช้อนชา
- เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
- สีผสมอาหาร ตามชอบ
- พิมพ์ขนมไทย ลายดอกมะลิ
วิธีทำ ขนมสัมปันนี
- นำแป้งมันไปคั่วด้วยไฟอ่อน ประมาณ 20 นาที (ต้องคนตลอดเวลา เพื่อไม่ให้แป้งไหม้) แล้วพักไว้
- ทำน้ำเชื่อมกะทิ โดยนำกะทิ และน้ำตาลทราย ใส่ในภาชนะนำขึ้นตั้งไฟ คนให้น้ำตาลพอละลายใส่เกลือเล็กน้อย คนให้ละลาย จากนั้นเติมกลิ่นมะลิ ลดไฟใช้ไฟอ่อน เคี่ยวกะทิไปเรื่อย ๆ จนมีลักษณะ หนืดเล็กน้อย ปิดไฟ พักไว้
- แบ่งน้ำเชื่อมออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นสีขาว และสีฟ้าโดยหยอดสีผสมอาหารสีฟ้าลงไปในถ้วยแบ่ง รอจนน้ำเชื่อมเย็นตัวลง
- แบ่งแป้งมันมา 2 ถ้วยตวง ค่อยๆ ใส่น้ำเชื่อมที่ผสมสีฟ้าลงไป นวดแป้งด้วยมือ ทำส่วนสีขาเหมือนกัน
- เตรียมพิมพ์ขนม โดยการโรยแป้งนวลลงไปในพิมพ์เล็กน้อย นำแป้งที่ผสมเอาไว้ใส่ลงไปในพิมพ์ กดให้แน่น ปาดขอบให้เรียบ
- ค่อยๆ เคาะขนมออกจากพิมพ์ จัดเสิร์ฟได้เลยขนมสัมปันนีจะมีเนื้อสัมผัสกรอบ ร่วน หอมกลิ่นแป้ง หวาน มัน หากเพื่อนๆชอบขนมหอมๆ สามารถนำไปอบควันเทียนเพิ่ม หลังจากทำขนมเสร็จแล้ว เพิ่มกลิ่นหอมให้ขนม
2. ขนมลืมกลืน
ขนมลืมกลืน ที่ได้ชื่อนี้เพราะเนื้อขนมที่ลื่น รสชาติหวาน มัน ทำให้รับประทานได้ง่าย เมื่อทานเข้าไปแล้วก็ไหลลื่นเข้าคอไปเลย
ส่วนผสมตัวขนม
- แป้งท้าวยายม่อม 2 ช้อนชา
- แป้งถั่วเขียว 100 กรัม
- น้ำตาลทราย 150 กรัม
- กลิ่นมะลิ 1 ช้อนชา
- เกลือป่น 1/8 ช้อนชา
- น้ำเปล่า
- สีผสมอาหาร
วิธีการเตรียมตัวแป้ง
- นำแป้งถั่วเขียวแป้งท้าวยายม่อม น้ำตาลทรายและเกลือ ใส่ลงในภาชนะผสม คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเปล่า กลิ่นมะลิ จากนั้นคนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน
- นำแป้งที่คนผสมได้ที่แล้วแบ่งใส่ชามเท่าๆ กันตามจำนวนสีที่เตรียมไว้
- ใส่สีผสมอาหารลงไปในภาชนะที่ใส่แป้งแต่ละใบ คนส่วนผสมสีและตัวแป้งให้เข้ากัน โดยหยดสีผสมอาหารที่ลงไปเพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อแป้งสุกแล้ว สีของแป้งจะเข้มขึ้นนำแป้งที่ผสมสีได้ที่แล้วใส่หม้อตั้งไฟ โดยใช้ไฟอ่อนกวนจนกว่าแป้งสุกและมีลักษณะใส ทำให้ครบทุกสี
- ตักแป้งที่กวนสุกแล้วใส่ลงในกระทงใบตองหรือพิมพ์วุ้น พักให้แป้งเย็น แล้วไปเตรียมส่วนหน้าขนม
ส่วนผสมหน้ากะทิ
- แป้งถั่วเขียว 2 ช้อนโต๊ะ
- แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
- กะทิ 250 กรัม
- น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- ถั่วเขียวอบเกลือตามชอบ
วิธีการเตรียมหน้าขนม
- เตรียมหม้อใส่กะทิที่เตรียมไว้ลงไป ตามด้วยแป้งข้าวเจ้า แป้งถั่วเขียว น้ำตาลทรายและเกลือ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นนำขึ้นตั้งไฟกลาง คนจนกะทิข้นและแป้งสุก เมื่อได้ที่แล้วยกลงจากเตา
- เมื่อพักกะทิจนเย็นตัวแล้ว ตักกะทิใส่ถุงบีบ บีบลงบนตัวแป้งที่เตรียมไว้ จากนั้นโรยถั่วเขียวอบเกลือตามลงไป ขนมลืมกลืน ขนมไทยที่มีรสชาติหวาน มัน รับประทานเพลิน รูปลักษณ์ของขนมก็น่ารัก น่ารับประทาน หากเพื่อนๆมีเวลา ลองทำทานกันดูนะ
3. ขนมทรายหรือขนมขี้หนู
ขนมทรายหรือขนมขี้หนู ที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากเนื้อขนมมีลักษณะเป็นเม็ดร่วนเหมือนเมล็ดทราย มีกลิ่นหอม รสหวานละมุน โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดคลุกเกลือ ตัดความหวาน ได้รสชาติมัน อร่อย รับประทานกันเพลิน
ส่วนผสมขนมขี้หนู
- แป้งข้าวเจ้า 1+ 1/4 ถ้วยตวง
- กะทิ 1/4 ถ้วยตวง
- น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
- น้ำลอยดอกมะลิ 1/2 ถ้วยตวง
- เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
- มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 1 ถ้วยตวง
- สีผสมอาหารตามชอบ
วิธีทำขนมขี้หนู
- เคี่ยวน้ำตาลทรายกับน้ำลอยดอกมะลิ ให้เหลือ 3/4 ถ้วย ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
- เทแป้งข้าวเจ้าใส่ชาม ค่อยๆ เทกะทิลงในแป้งทีละน้อย คนให้ส่วนผสมเข้ากันจนได้เนี้อแป้ง ที่มีลักษณะเปียกหมาดๆ
- ยีแป้งให้มีลักษณะแตกเป็นเม็ดด้วยที่ร่อนแป้ง 2-3 ครั้ง โดยยีลงบนผ้าขาวบาง.
- นำแป้งที่ยีแล้วไปนึ่ง ใช้ไฟแรง นึ่งนานประมาณ 25 นาที จนแป้งสุก
- นำแป้งที่นึ่งสุกใส่ภาชนะ ค่อยๆ เทน้ำเชื่อมราดลงให้ทั่วเนื้อแป้งห้ามคนทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที
- ใช้ส้อม ค่อยๆ เกลี่ยแป้งให้ฟูขึ้น จากนั้นนำแป้งที่ได้ไปอบควันเทียน
- จัดแป้งลงในภาชนะที่ใช้เสิร์ฟ โรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดฝอยคลุกเกลือ เพียงเท่านี้ก็จะได้ขนมขี้หนู รสชาติอร่อยไว้รับประทาน
ขนมขี้หนูที่อร่อย จะมีรสหวานอ่อนๆ หอมกลิ่นน้ำลอยดอกมะลิ เนื้อขนมจะร่วน ไม่แห้งหรือแฉะเกินไป เมื่อรับประทานคู่กับมะพร้าวขูด จะอร่อยลงตัว
4. ขนมเหนียว
ขนมเหนียว เป็นขนมไทยที่ดูไม่ซับซ้อนอะไร แต่อร่อยมาก เนื้อขนมเหนียวนุ่ม คลุกเคล้ากับมะพร้าวขูดฝอย เพิ่มความหวานหอมด้วยน้ำตาลเคี่ยว เพิ่มความกรุบกรอบอร่อยด้วยข้าวพอง เข้ากันมากๆ
ส่วนผสมน้ำตาลเคี่ยว
- น้ำตาลปี๊บ 200 กรัม
- น้ำเปล่า 100 กรัม
วิธีทำน้ำตาลเคี่ยว
- ขั้นตอนการทำน้ำเชื่อม ใส่น้ำตาลปี๊บและน้ำเปล่าลงในกระทะ ตั้งไฟแรงให้น้ำตาลมีกลิ่นหอมน้ำตาลไหม้ แล้วเบาไฟเป็นไฟอ่อน เคี่ยวจนน้ำตาลมีลักษณะข้น โดยน้ำตาลเคี่ยวจะมีฟอง และเหนียวขึ้น จากนั้นปิดไฟ พักไว้
ส่วนผสมตัวแป้ง
- แป้งข้าวเหนียว 250 กรัม
- น้ำเปล่า 300 กรัม
- สีผสมอาหารตามชอบ
- ข้าวพอง
- มะพร้าวขูดขาว
- เกลือดนิดหน่อย
วิธีการทำแป้งขนมเหนียว
- นำแป้งผสมกับน้ำเปล่า นวดผสมจนแป้งไม่ติดมือ หลังจากนั้นหยดสีผสมอาหารตามชอบ นวดผสมจนสีกระจายทั่วตัวแป้งแล้วคลึงแป้งให้เป็นเส้นยาวๆ แล้วตัดเป็นชิ้นยาวพอดีคำ
- นึ่งมะพร้าวขูดขาวนานประมาณ 5-10 นาที จากนั้นยกลงใส่ถาด โรยเกลือเล็กน้อยคลุกให้เข้ากัน พักไว้ สำหรับคลุกแป้งที่ต้มแล้ว
- ตั้งน้ำเปล่าใส่หม้อพร้อมใบเตย ต้มจนน้ำเดือด หอมกลิ่นใบเตย จากนั้นนำแป้งที่ตัดไว้ ใส่ลงไปต้มให้สุก สังเกตว่าแป้งสุก แป้งจะลอยขึ้น
- เมื่อแป้งสุก ตักขึ้นคลุกในมะพร้าวขูดที่นึ่งเตรียมไว้ แล้วจัดใส่จานเสิร์ฟพร้อมข้าวพองและน้ำเชื่อมที่เคี่ยวไว้
ขนมเหนียว 1 คำ ให้รสสัมผัสที่หลากหลาย เหนียวนุ่ม หอม หวาน กรุบกรอบ เป็นขนมไทยที่อร่อยแปลกไปกว่าขนมไทยประเภทอื่นๆ ต้องลองทำทานดู
5. ข้าวเหนียวแก้วใบเตย
ข้าวเหนียวแก้ว ขนมไทยที่แลดูหน้าตาธรรมดาๆ แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะได้กลิ่นหอมใบเคย ความเหนียว นุ่ม หวาน มัน ของตัวข้าวเหนียว
ส่วนผสมข้าวเหนียวแก้ว
- ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 1+½ ถ้วย
- สารส้มป่นละเอียด ½ ช้อนชา
- หัวกะทิ 1+½ ถ้วย (มะพร้าวขูดขาว 500 กรัม คั้นกับน้ำอุ่น ½ ถ้วย)
- น้ำตาลทราย 1 ถ้วย
- น้ำใบเตยคั้นข้นๆ ¼ ถ้วย (ใบเตยหั่นชิ้นเล็ก 1 ถ้วย ปั่นกับน้ำ ½ ถ้วย)
- งาขาวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีการปรุงข้าวเหนียวแก้ว
- ล้างข้าวเหนียวที่เตรียมไว้ 2 ครั้ง แล้วนำไปแช่น้ำ ใส่สารส้มป่นลงในน้ำที่แช่ข้าวคนให้ละลาย แช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง (สารส้มจะช่วยให้เม็ดข้าวเหนียวสุกใสเป็นเงา) เมื่อแช่ข้าวเหนียวจนครบตามเวลา เทน้ำแช่ข้าวทิ้ง แล้วล้างข้าวผ่านน้ำหลายๆน้ำจนกว่าน้ำจะใส เทข้าวเหนียวที่ล้างแล้วลงในกระชอนพักให้สะเด็ดน้ำ
- ทำข้าวเหนียวมูนโดยใส่น้ำในหม้อลังถึงประมาณ นำขึ้นตั้งไฟกลาง รอจนน้ำเดือด เทข้าวเหนียวที่พักไว้ลงบนผ้าขาวบางที่ชุบน้ำหมาด นำไปนึ่งจนสุก ใช้เวลาประมาณ30 นาทีหรือจนกว่าจะสุก นำข้าวเหนียวนึ่งที่ยังร้อนอยู่ใส่ลงในอ่างผสม ใส่หัวกะทิ คนให้ทั่ว ปิดฝา รอจนข้าวเหนียวดูดน้ำกะทิจนเมล็ดข้าวเป็นมัน ขึ้นเงาสวย พักไว้ให้เย็น
- ใส่น้ำตาลลงในอ่างผสมข้าวเหนียวมูนที่ทำไว้ คนให้เข้ากัน จากนั้นนำส่วนผสมของข้าวเหนียวใส่ลงในกระทะทองเหลือง ยกขึ้นตั้งไฟอ่อน กวนนานประมาณ 15 นาที จากนั้นใส่น้ำคั้นใบเตยลงไป กวนต่อพอให้ข้าวเหนียวเป็นยางมะตูม ข้าวจับตัวกัน ปิดไฟ ยกลง
- ตักข้าวเหนียวใบเตยใส่กระทงใบเตยหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ให้มีขนาดพอดีคำ โรยหน้าด้วยงาขาวคั่ว จัดใส่จาน
ข้าวเหนียวแก้วขนาดพอดีคำ หอมกลิ่นใบเตย หวาน มันน้ำกะทิ เป็นขนมไทยอีกชนิดที่ทานอร่อย และทานเพลินจนลืมน้ำหนักเลยทีเดียว
6. สังขยาฟักทอง
สังขยาฟักทอง ขนมไทยชื่อมงคล รสชาติอร่อย เนื้อสังขยาเนียน นุ่ม หอมน้ำตาลมะพร้าว มันละมุนด้วยกะทิและไข่ จับคู่กับฟักทองเนื้อแน่น มันอร่อย
ส่วนประกอบสังขยาฟักทอง
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- ไข่เป็ด 2 ฟอง
- หัวกะทิ 3/4 ถ้วย
- น้ำตาลปี๊บ 1/4 ถ้วย
- ใบเตย 3 ใบ
- ฟักทอง 1 ลูก
วิธีทำสังขยาฟักทอง
- นำส่วนผสมไข่ไก่ ไข่เป็ด หัวกะทิและน้ำตาลปี๊บ ใส่ลงในภาชนะ ขยำพร้อมกับใบเตย ขยำจนส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดี
- นำส่วนผสมกะทิในข้อ 1 ไปกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อให้เนื้อสังขยาเนียนยิ่งขึ้น
- เตรียมฟักทองโดยล้างเปลือกให้สะอาด และคว้านไส้ตรงกลางออก จากนั้นเทส่วนผสมสังขยาลงไปในลูกฟักทอง ประมาณ 3 ส่วน 4 ของผลฟักทอง
- นำสังขยาฟักทองไปนึ่ง โดยใช้ไฟอ่อน ใช้เวลานึ่งประมาณ 45 นาที
- ดูว่าสังขยาและเนื้อฟักทองสุกดีแล้ว นำมาตัดเป็นชิ้น จัดเสิร์ฟ อาจแต่งหน้าด้วยฝอยทองเพื่อความสวยงาม
สังขยาฟักทอนอกจากจะมีรสชาติอร่อย ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร เพราะในฟักทองมีสารเบต้าแคโรทีน บำรุงสายตา ลดระดับน้ำตาลในเลือด และมีสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย นับว่าเป็นขนมไทยที่ทั้งอร่อย และมีประโยชน์
7. ข้าวหมาก
ข้าวหมากจัดเป็นขนมไทยโบราณ มักรับประทานในฤดูร้อน รสชาติของข้าวหมากจะมีกลิ่นหอมของข้าว มีรสปร่า หวานติดลิ้น แช่เย็นๆ ทานแล้วชื่นใจ วิธีทำก็ไม่ยาก มาดูกัน
ส่วนประกอบการปรุงข้าวหมาก
- ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว 600 กรัม
- แป้งข้าวหมาก 2-3 ลูก
วิธีทำข้าวหมาก
1. นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกมาล้างยางข้าวออกในน้ำจนหมดยาง (สังเกตดูน้ำที่ล้างข้าวใส) เทข้าวเหนียวที่ล้างแล้วลงในตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำ
2. นำลูกข้าวหมากไปคลุกข้าวเหนียวที่ล้างแล้วให้เข้ากัน
3. บ่มข้าวหมาก โดยนำส่วนผสมใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ตั้งไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ ประมาณ 3 วัน
4. พอครบ 3 วันแล้วให้นำไปแช่เย็นอีก 1 คืน ก็พร้อมรับประทาน
การรับประทานข้าวหมากก็ไม่ซับซ้อนอะไร เพียงนำใส่ภาชนะที่ใช้จัดเสิร์ฟก็รับประทานได้เลย นับเป็นขนมไทยที่ทำง่าย ทานง่าย เหมาะกับยุคปัจจุบันจริงๆ
8. ขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อน
ขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อน ขนมไทยอีกชนิดที่อร่อย หอม มัน มีความนุ่มจากเนื้อแป้งและความกรอบมันของมะพร้าวในเนื้อขนม อร่อย ทานเพลิน
ส่วนผสมขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อน
- แป้งข้าวเหนียวขาว 1 ถ้วย
(หรือแป้งข้าวเหนียวดำผสมแป้งข้าวเหนียวขาวเล็กน้อย)
- น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย (ปรับความหวานตามชอบ)
- กะทิสด 1/2 ถ้วย
- เกลือป่น เล็กน้อย
- เนื้อมะพร้าวอ่อน (ขูดเป็นชิ้นหยาบ ๆ) 2 ถ้วย
- น้ำมันพืช (สำหรับทากระทะ)
วิธีทำขนมบ้าบิ่น
1. นำส่วนผสมแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทราย กะทิ และเกลือป่น ลงผสมให้เข้ากันจนน้ำตาลทรายละลาย
2. ใส่เนื้อมะพร้าวขูดลงไปในส่วนผสมของแป้งในข้อ 1 ผสมให้เข้ากัน
3. นำกระทะขึ้นตั้งไฟกลาง ทาน้ำมันพืชที่กระทะบาง ๆ ตักส่วนผสมขนมลงทอด พอสุกเหลืองให้กลับขนมอีกด้านลงทอดจนขนมสุกเหลืองสวยทั้ง 2 ด้าน จัดขนมพร้อมเสิร์ฟ
ขนมบ้าบิ่นเป็นขนมไทยที่กลิ่นอายความเป็นขนมฝรั่ง เพราะนำขนมไปทอดให้แป้งเหลืองกรอบ หอมกลิ่นแป้งและมะพร้าว คล้าย ๆขนมเค้กของฝรั่ง รับประทานง่าย รสชาติอร่อย
9. ทับทิมกรอบ
ทับทิมกรอบ ขนมไทยสีสวย ลักษณะเหมือนอัญมณี มักใช้ในงานมงคล ทับทิมกรอบ ขนมไทยที่ทำง่าย เหมาะกับวันร้อนๆ รับประทานแล้วสดชื่น
ส่วนผสมทับทิมกรอบ
- แห้ว 50 กรัม
- สีผสมอาหาร (สีชมพู) 1 ช้อนชา
- แป้งมัน 1/2 ถ้วย
วิธีการทำทับทิมกรอบ
- หั่นแห้วเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า นำมาใส่อ่างผสม คลุกแห้วกับสีผสมอาหารสีแดงให้ทั่ว
- ใส่แป้งมันลงไปในแห้วที่คลุกสีแล้ว ให้แป้งเคลือบให้ทั่วชิ้นแห้วทุกชิ้น จากนั้นร่อนแป้งส่วนที่เกินออก
- ตั้งน้ำต้มจนน้ำเดือด จากนั้นนำแห้วลงต้ม จนแป้งที่หุ้มเนื้อแห้วสุก มีสีแดงใส จากนั้นตักขึ้นแช่น้ำเย็น พักไว้
ส่วนผสมน้ำกะทิ
- กะทิ 300 มิลลิลิตร
- ใบเตย 2 ใบ
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย
วิธีการทำน้ำกะทิ
- นำน้ำกะทิขึ้นตั้งไฟอ่อน ใส่ใบเตยมัดปมลงไป ปรงุรสด้วยน้ำตาลทรายและเกลือ คนจนน้ำตาลละลาย
วิธีจัดเสิร์ฟ
ตักเนื้อทับทิมกรอบใส่ถ้วย ใส่น้ำแข็งที่ใสแล้วตามชอบ ราดน้ำกะทิลงไป จัดเสิร์ฟได้เลย หากต้องการเพิ่มเครื่องอื่นๆ เช่น เนื้อขนุนสุก หรือเฉาก๊วยก็สามารถเพิ่มได้ตามชอบ
วันนี้เราก็พาเพื่อนๆลองทำขนมไทยถึง 9 เมนู แต่ละเมนูล้วนมีเอกลักษณ์และรสชาติที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งเป็นขนมไทยที่หารับประทานยากขึ้นทุกวัน และมีวิธีการปรุงที่ไม่ซับซ้อน เพื่อนๆลงไปทำตามดูนะ เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการรับประทานขนมแบบไทยๆอีกด้วย
อ้างอิง : cooking.kapook.com, food.trueid.net