อย่างที่ทราบกันว่าขนมไทยนั้นมีหลากหลายชนิดมาก ทั้งที่เป็นขนมที่เป็นขนมพื้นบ้านทั่วไป หรือขนมที่มีที่มาจากห้องเครื่องในวัง โดยมีการนำสูตร วิธีการทำออกมาเผยแพร่ ทำขาย หรือทำแจกกัน จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและยังคงเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน ขนมไทยมงคลที่เชื่อกันว่าช่วยเสริมสิริมงคลและนิยมใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่นขนมตระกูลทอง (ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง) รวมไปถึงเม็ดขนุน ขนมชั้น ถ้วยฟู ฯลฯ อันมีชื่อที่พ้องหรือสื่อถึงความมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง
ประวัติขนมไทยมงคล
ขนมไทย มีความเป็นเอกลักษณ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมประจำชาติไทยซึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนประณีตในการปรุง ความพิถีพิถันในรสชาติ สีสัน ความสวยงาม ของรูปลักษณ์ ตลอดจนวิธีการรับประทานขนมแต่ละชนิด ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนม
ขนมไทยมีการประยุกต์นำเอาขนมต่างชาติมาปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ วิธีการปรุง จนกลมกลืนมาเป็นขนมไทยไปโดยปริยาย โดยเริ่มมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ที่สยามประเทศได้เริ่มค้าขายกับชาวต่างชาติ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านต่างๆ รวมทั้งด้านอาหารการกิน เรื่อยมาจนกระทั่งสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีขาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยทำการค้าและรับราชการในประเทศไทย ทำให้คนไทยรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารการกินของชนชาติต่าง ๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น รวมถึงวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการปรุง รวมไปถึงวิถีบริโภคนิสัยแบบไทย ๆ ซึ่งตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง ทำให้แยกไม่ออกว่าขนมไทยแบบดั้งเดิมนั้นเป็นอย่างไรกันแน่
ขนมไทยที่ถือเป็นขนมมงคล โดยมากเป็นขนมลูกผสมที่ได้รับอิทธิพลจากชาวต่างชาติที่ดัดแปลงนำขนมของชาติตนมาประดิดประดอยให้มีรูปลักษณ์สวยงามแบบไทยๆ ขนมไทยที่มีส่วนผสมของไข่หรือปรุงด้วยวิธีการอบ ล้วนเป็นขนมไทยเชื้อสายโปรตุเกส แต่ด้วยรูปลักษณ์และชื่ออันเป็นมงคล ขนมลูกผสมเหล่านี้จึงมักรวมอยู่ในงานพิธีมงคลต่าง ๆอย่างไม่เขอะเขิน
ขนมไทยมงคล 9 ชนิด
1.จ่ามงกุฎ
จ่ามงกุฎเป็นขนมไทยโบราณที่หารับประทานยาก เป็นขนมที่มีที่มาจากในพระราชวัง มีขั้นตอน และใช้เวลาในการทำนาน เป็นขนมที่เข้าเครื่องสำรับเสวย ถวายพระเจ้าแผ่นดินดังพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ ชมเครื่องคาวหวานในรัชกาลที่ 2 กล่าวถึงขนม จ่ามงกุฎว่า
“งามจริงจ่ามงกุฎใส่ชื่อดุจมงกุฎทอง เรียมร่ำคำนึงปองสะอิ้งน้องนั้นเคยยล “
ความหมายของขนมจ่ามงกุฎ จ่ามงกุฎเป็นขนมไทยที่มีขั้นตอนในการทำสลับซับซ้อน นิยมทำกันเพื่อใช้ประกอบพิธีการที่สำคัญจริงๆ ด้วยรูปลักษณ์ของขนมที่มีลักษณะคล้ายมงกุฎ และชื่อ “จ่ามงกุฎ” ที่หมายถึง การเป็นหัวหน้าสูงสุด แสดงถึงความมี เกียรติยศ จึงนิยมให้ขนมจ่ามงกุฎเป็น ของขวัญ ในงานเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง เพื่อเป็น การแสดงความยินดี และอวยพร ให้มีความก้าวหน้า ในตำแหน่งหน้าที่
2.ขนมชั้น
ขนมชั้นเป็นขนมไทยโบราณที่จัดอยู่ในขนมประเภทแข้น (ลักษณะกึ่งแห้งกึ่งเปียก) ในอดีตนิยมใช้ขนมชั้นในงานฉลองยศ เพราะหมายถึงลำดับชั้นยศถาบรรดาศักดิ์ โดยนิยมทำขนมชั้นให้มี 9 ชั้น เพราะถือเคล็ดว่าจะได้ “ก้าวหน้า” พระยาอนุมานราชธน “เสฐียรโกเศศ”ได้เขียนไว้ว่าขนมชั้นยังจัดอยู่ ในชุดของขนมแต่งงานซึ่งในพิธีขันหมาก เนื่องจากมีชื่อที่เป็นสิริมงคล
ความหมายของขนมชั้น ขนมชั้นเป็นขนมไทยโบราณนิยมใช้ในงานฉลองยศ เพราะมีความหมายถึงลำดับชั้นยศถาบรรดาศักดิ์
3.ปุยฝ้ายหรือถ้วยฟู
ปุยฝ้ายเป็นขนมไทยชนิดหนึ่งที่มีรสชาติหวาน กลิ่นหอม และมีสีสันต์น่ารับประทาน ในอดีตมักใช้ขนมปุยฝ้ายในงานฉลองยศ โดยรูปลักษณ์ที่พอง ฟู และชื่อขนมที่บ่งบอกถึงความเฟื่องฟู
ความหมายของขนมถ้วยฟู ทั้งชาวไทยและชาวจีน นิยมนำขนมถ้วยฟูหรือฮวกก้วยในการไหว้หรือทำพิธีมงคลต่าง ๆ เพราะชื่อของขนมชนิดนี้ มีความหมายในทางมงคลว่า ความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรื่อง จึงเป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการพิธีต่าง ๆ
4.ทองหยิบ
ทองหยิบเป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส คือ ท้าวทองกีบม้าหัวหน้าต้นเครื่องซึ่งมีเชื้อสายโปรตุเกสเป็นผู้คิดค้นขนมตระกูลทองขึ้น (ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง) ด้วยรูปลักษณ์และชื่ออันเป็นมงคล ทำให้คนไทยเรายังถือเคล็ดใช้ขนมตระกูลทองในงานมงคลต่างๆ
ความหมายของขนมทองหยิบ นิยมใช้ในพิธีมงคลต่างๆ หรือมอบเป็น ของขวัญ ในโอกาสสำคัญ ๆ แทนคำอวยพรให้ มีความร่ำรวยเงินทอง หยิบจับสิ่งใดให้เป็นเงินเป็นทอง
5.ทองหยอด
ทองหยอด เป็นอีกหนึ่งขนมไทยในตระกูลทองที่นิยมใช้ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ เช่นกัน เพราะชื่อที่ขึ้นต้นด้วยทอง อีกทั้งสีของขนมที่ดูสุกปลั่งเหมือนทองคำ ทำให้ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั้นเมื่อนำมาใช้ในพิธีจะมาเป็นชุดทั้งตระกูล เพราะหมายถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวยเงินทอง
ความหมายของขนมทองหยอด นิยมใช้ในพิธีมงคลต่างๆ หรือมอบเป็น ของขวัญ ในโอกาสสำคัญ ๆ แทนคำอวยพรให้ มีความร่ำรวยเงินทอง
6.ทองเอก
ขนมทองเอก เป็นขนมไทยที่ดัดแปลงมาจากขนมของชาวตะวันตก เนื่องจากมีส่วนผสมของไข่แดง กะทิ แป้งสาลีและน้ำตาลทราย มักนำขนมทองเอกเป็นขนมที่ใช้ในงานมงคลต่างๆเนื่องจากเนื้อขนมมีสีเหลืองทองและ มีชื่อเป็นมงคล
ความหมายของขนมทองเอก เป็นอีกหนึ่งในขนมตระกูลทอง มีความพิถีพิถันอย่างยิ่งในทุกขั้นตอนการทำ มีลักษณะสวยงาม โดดเด่นกว่าขนมตระกูลทองชนิดอื่นๆ เพราะมีการนำทองคำเปลวประดับไว้ที่หน้าของขนม คำว่า “เอก” หมายความถึง การเป็นที่หนึ่ง การใช้ ขนมทองเอก ประกอบพิธีมงคลสำคัญต่างๆ
เลื่อนตำแหน่ง เปรียบเสมือนคำอวยพรให้ เป็นที่หนึ่ง
7.ฝอยทอง
ฝอยทองเป็นขนมไทยโบราณชั้นดีชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมใช้เป็นขนมในงานมงคลต่างๆเนื่องจากมีชื่อเป็นมงคลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าทอง ซึ่งถือเคล็ดว่าทำให้ร่ำรวย และยังถือเคล็ดตามลักษณะขนมคือมีลักษณะเป็นเส้นยาว ซึ่งหมายถึงชีวิตที่ยืนยาวฝรั่งจึงเรียกว่า “Goldenhair”
ความหมายของขนมฝอยทอง เป็นขนมในตระกูลทองที่มีลักษณะเป็นเส้น นิยมใช้ในงานมงคลสมรส ถือเคล็ดว่าห้ามตัดเส้นขนม ต้องปล่อยให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อการครองชีวิตคู่อย่างยืนยาวตลอดไป
8.เม็ดขนุน
เม็ดขนุน เป็นขนมไทยที่ถือเป็นยอดแห่งขนม ใช้สำหรับเลี้ยงพระหรือเลี้ยงแขก โดยในสมัยโบราณจะ ใช้เม็ดในของขนุนต้มให้สุกแล้วบดละเอียดนำไปกวนแล้วปั้นให้เหมือนเม็ดขนุนจริงๆ จึงเรียกขนมชนิดนี้ว่าเม็ดขนุนในปัจจุบันมักใช้ถั่วกวนหรือเผือกกวนแทน
ความหมายของขนมเม็ดขนุน หนึ่งในขนมตระกูลทอง มีผิวนอกสีเหลืองทอง รูปร่างลักษณะคล้ายกับเม็ดในของขนุน ข้างในมีไส้ทำด้วยถั่วเขียวบด ชื่อของขนมเม็ดขนุน มีความเป็นสิริมงคล ช่วยให้มีคนสนับสนุน หนุนเนื่อง ในการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงาน
9.ขนมเสน่ห์จันทน์
เสน่ห์จันทร์เป็นขนมไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือประยุกต์มาจากผลของต้นจันทน์ ที่มีผลสีเหลืองทอง การทำเนื้อแป้งของขนมเสน่ห์จันทร์ก็จะเป็นแบบเดียวกับทองเอก คือนำแป้งไปกวนกับไข่และกะทิ แล้วนำมาปั้นให้เป็นลูกกลม ๆ ใส่ผลจันทร์ป่นลงไป เพื่อให้มีกลิ่นหอมเหมือนผลลูกจันทร์แท้ ๆ
ความหมายของขนมเสน่ห์จันทร์ คนโบราณเชื่อว่าคำว่าเสน่ห์จันทน์เป็นคำที่มีสิริมงคล แสดงถึงความเป็นที่รัก ความมีเสน่ห์ ทำให้คนรักและเอ็นดู ดุจเดียวกับเสน่ห์ของผลจันทน์ จึงนิยมนำมาใช้ประกอบในงานพิธีมงคลต่าง ๆ และให้เป็นของขวัญแทนความรัก
เอาล่ะ วันนี้เราก็ได้มาเรียนรู้ถึงที่มาและความหมายของขนมไทยต่างๆ ที่นิยมใช้เสริมความเป็นสิริมงคลในงานพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานพิธีสำคัญอื่นๆ ด้วยรูปร่างหน้าตาของขนมไทยเหล่านั้น อีกทั้งชื่ออันมีความหมายเป็นมงคล รวมถึงความประณีตในการประดิษฐ์ขนมไทยมงคลเหล่านั้น นอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีรูปร่างที่สวยงาม สะดุดุตา ทำให้งานมงคลนั้นๆ ดูสดชื่นและสวยงามอีกด้วย
อ่านบทความ9 สูตรขนมไทยโบราณ หากินยากแต่ทำเองได้!