ขนมเนียล หากเอ่ยชื่อนี้ไปคิดว่าคงจะมีไม่กี่คนที่รู้จักขนมชนิดนี้ ขนมเนียลเป็นขนมพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ มักทำรับประทานกันหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบในการทำขนมเนียลก็ไม่ซับซ้อนอะไร เป็นของพื้นบ้านที่หากันได้ทั่วไป อย่างแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทรายแดง (ไม่ฟอกสี) หรือน้ำตาลอ้อยบดผง เกลือ เรามาทำความรู้จักกับขนมเนียลกัน
ประวัติความเป็นมาของขนมเนียล
ขนมโบราณ ที่เรียกว่า นมเนียล (ขนมเนียล) หรือ “พิซซ่าเขมร” ขนมโบราณชนิดนี้แพร่หลายในแถบอีสานใต้ คนสมัยก่อนมักทำให้ลูกหลานทานเล่น ในบางพื้นที่มีความเชื่อว่าหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะทำขนมเนียล เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตา (เทพารักษ์) และยุ้งฉางเพื่อขอขมาและขอบคุณผีปู่ตาที่อำนวยให้ดินและน้ำอุดมสมบูรณ์
ขนมเนียลได้ชื่อเรียกมาจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำขนม คือ กะลามะพร้าวผ่าครึ่ง ในภาษาเขมรเรียกว่า “เนียล” แปลว่า “ทะนาน” เพราะคนสมัยก่อนใช้กะลามะพร้าวผ่าครึ่ง เป็นเครื่องมือตวงข้าวสาร หรือก็คือทะนานแบบโบราณนั่นเอง ชาวบ้านนําเนียลมาเจาะรูตรงก้น ใช้เป็นอุปกรณ์นึ่งขนม เลยเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ขนมเนียล” นั่นเอง
ส่วนผสมและวิธีการทำขนมเนียล
ส่วนผสมในการทำขนมเนียลนั้นมีเพียงไม่กี่อย่าง เพราะเป็นขนมพื้นบ้านจึงหยิบจับเอาอะไรที่สะดวกมาทำขนม แต่มีวิธีการทำที่แตกต่างออกไป เรามาดูกัน
ส่วนผสมการทำขนมเนียล
- แป้งข้าวเหนียว 200g
- น้ำอ้อย 150g
- มะพร้าวขูดเส้น 200g
- เกลือเล็กน้อย
วิธีการทำขนมเนียล
1. เตรียมหม้อดิน ขนาดปานกลาง 1 ใบ
2. นำกะลามะพร้าว ผ่าครึ่ง เลือกที่ขนาดที่สามารถวางบนปากหม้อดินได้ เจาะรูกะลาหลาย ๆ รู
3. นำใบมะพร้าว ซ้อนกันเป็นรูปกากบาท วางลงที่ก้นกะลา เพื่อไม่ให้ขนมติดกะลา
4. นำแป้งข้าวเหนียว ผสมกับน้ำตาลอ้อย เกลือ และมะพร้าวคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้ ๓๐ นาที เพื่อให้
เกิดความชื้น หากส่วนผสมแห้งเกินไป ให้เติมน้ำต้มสุกเล็กน้อย
5. ตั้งหม้อดิน เอาใบเตยใส่ในน้ำต้มจนเดือด ตักส่วนผสมขนมที่ผสมแล้ว ใส่ลงในกะลาที่รองด้วยใบ
มะพร้าว จากนั้นปิดฝาหม้อ รอจนขนมสุก แล้วจับปลายใบมะพร้าวยกขึ้นมาพักไว้บนใบตองที่เตรียมไว้ รอให้เย็น พร้อมเสิร์ฟ
ขนมเนียลเป็นขนมที่มีส่วนผสมที่หาได้ไม่ยาก หากแต่อุปกรณ์การทำค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์สักหน่อย ในปัจจุบัน มีผู้ที่อนุรักษ์ และสืบทอดการทำขนมเนียลเพื่อขาย และเป็นการสืบต่ออายุของขนมเนียลนี้ หากสนใจ สามารถหาข้อมูลได้ หรืออยากจะลองทำเองก็น่าสนใจ
อ้างอิง : https://workpointtoday.com/
อ่านบทความ : วิธีทำ ขนมเข่ง เมนูขนมไทย แป้งเหนียวนุ่ม