ขนมเจาะหู ขนมชื่อแปลกของชาวปักษ์ใต้ เป็นขนมอีกชนิดที่ใช้ในงานบุญสารทเดือนสิบ เชื่อกันว่า นำขนมเจาะหูนี้มาร้อยเป็นพวง แทนเงินทองที่ส่งให้บรรพบุรุษได้ใช้สอย การทำขนมเจาะหูก็ไม่ได้ยากอะไร เรามาลองดูกัน
ประวัติความเป็นมาของขนมเจาะหู
ขนมเจาะหู บ้างเรียก แนหรำ, แบซำ, ดีซำ, โดซีแย หรือ ลีงอโต๊ะแว เป็นขนมที่ทำโดยการเคี่ยวน้ำตาลแดงจนเหนียวข้น ผสมแป้งข้าวเจ้าและนำแป้งมานวดต่อให้ได้ที่ก่อนจะนำไปทอด มีรูปร่างเหมือนโดนัท เป็นขนมสำคัญในเทศกาลสำคัญทางภาคใต้ของประเทศไทย นิยมทำขึ้นในช่วงเทศกาลฮารีรายอของชาวมุสลิม หรือใช้เป็นขนมงานบุญในศาสนาพุทธ เช่น งานบุญสารทเดือนสิบ หรือบุญชิงเปรต เพราะมีรูปร่างคล้ายเบี้ยหอยหรือเงินโบราณ จึงใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเหมือนการส่งเงินให้บรรพบุรุษ
ส่วนผสมและวิธีการทำขนมเจาะหู
ส่วนผสมการทำขนมเจาะหู
- แป้งข้าวเหนียว 1 ช้อนโต๊ะ
- แป้งข้าวเจ้า 250 กรัม
- น้ำตาลโตนด 80 กรัม
- น้ำตาลทราย 200 กรัม
- น้ำเปล่า ½ ถ้วย
วิธีทำขนมเจาะหู
- นำแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียวพักไว้
- นำน้ำตาลทรายและน้ำตาลโตนดผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นยกขึ้นตั้งไฟอ่อนเคียวให้น้ำตาลละลาย จากนั้นเติมน้ำเปล่าลงไป เคี่ยวจนน้ำเชื่อมมีลักษณะเหนียวข้น
- พักให้น้ำตาลที่เคี่ยวไว้เริ่มอุ่น นำแป้งที่ผสมรวมกันไว้ลงไปนวดกับน้ำเชื่อม ใช้เวลานวดประมาณ 30 นาที ให้มีลักษณะขึ้นเงา จากนั้นพกแป้งทิ้งไว้ 1 คืน
- เมื่อพักแป้งไว้แล้ว นำแป้งที่ได้ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ให้มีขนาดเท่า ๆ กัน
- เตรียมใบตองโดยทาน้ำมันลงไปเล็กน้อยบนใบตอง เป็นวิธีการปั้นขนมแบบโบราณ
- ปั้นแป้งที่ได้บนใบตองโดยคลึงแป้งเปนก้อนกลมบนใบตอง จากนั้นแผ่ให้แป้งแบน แล้วทำเป็นรูตรงกลาง ลักษณะคล้ายการเจาะหู
- เมื่อปั้นแป้งจนหมดแล้ว นำขนมลงทอดในน้ำมัน ใช้ไฟกลาง ทอดจนแป้งขนมมีสีเหลืองทอง ลักษณะจะคล้ายกับโดนัทเล็ก ๆ
ขนมเจาะหูมีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยากอะไร รสชาติขนมก็อร่อย เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลโตนด ทำให้ขนมมีความหอม และแป้งที่ทอดจนกรอบเหลือง เหมาะสำหรับการรับประทานคู่กับชาหรือกาแฟ เพื่อน ๆ จะลองทำทานกันดูก็น่าสนใจนะ
อ้างอิง : http://www.thaidessert.krusudruadee.com/
อ่านบทความ : วิธีทำ “ขนมเบื้อง” สูตรนี้กรอบสะใจ เก็บไว้ทานวันหลังได้