ขนมเข่ง เป็นขนมอีกชนิดที่นิยมใช้ในพิธีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน ซึ่งมักจะมาคู่กันกับขนมเทียน ชื่อของขนมเข่งในภาษาจีนมีความหมายว่าปีที่เพิ่มขึ้น จึงมักนำมาใช้ไหว้ในเทศกาลตรุษจีน เพราะเป็นการไหว้ปีใหม่ของชาวจีนนั่นเอง ชื่อขนมเข่งในภาษาไทย อาจจะมาจากเวลาที่นึ่งขนม จะใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไม้ไผ่สาน หน้าตาคล้ายเข่งใบเล็ก ๆ รอง จึงเรียกกันว่าขนมเข่ง เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาของขนมเข่ง
เหนียนเกา (年糕) คืออาหารจีนชนิดนึ่งที่ทำจากข้าวเหนียว ขนมเข่ง หาทานได้ทั่วไป ถึงแม้ขนมเข่งจะหารับประทานได้ตลอดทั้งปี แต่เป็นที่นิยมรับประทานใสกที่สุดในช่วงตรุษจีน คนนิยมรับประทานขนมเข่งในช่วงนี้ เพราะคำว่า เหนียนเกา มีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า ปีที่สูงขึ้น ในภาษาจีน
ขนมเข่งในประเทศจีน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ขนมเข่งแบบอย่างเซี่ยงไฮ้ มีลักษณะป็นท่อนกลมหนานุ่ม มักใช้ในการประกอบอาหาร วิธีรับประทานคือหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปทอด หรือใส่ในซุป ซึ่งวิธีที่นิยมนำไปปรุงรับประทานทั่วไปคือการนำขชนมไปทอด เรียกว่า เฉ่าเหนียนเกา
- ขนมเข่งแบบกวางตุ้ง เรียกว่า เหนียนเกา เช่นเดียวกัน ขนมเข่งแบบกวางตุ้งมีสีเหลืองเข้ม และมีรสหวานจากน้ำตาลทรายแดง ขนมเข่งแบบกวางตุ้ง มีลักษณะเป็นแผ่น นำไปอบด้วยไอน้ำ จนกระทั่งเนื้อแป้งจับตัวเป็นก้อนแข็ง จึงนำไปเสิร์ฟทั้งแผ่น รับประทานได้เลย
ส่วนผสมและวิธีการทำขนมเข่ง
ส่วนผสมหลัก ๆ ของขนมเข่ง คือ แป้งข้าวเหนียว และน้ำตาล ซึ่งจะผสมให้เข้ากันดีแล้วนำไปนึ่ง ก็สามารถรับประทานได้เลย
ส่วนผสมการทำขนมเข่ง
- แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม
- น้ำ 1 ถ้วย
- น้ำตาลปี๊บ 1 กิโลกรัม
- มะพร้าวขูด 300 กรัม
- กระทงขนมเข่ง
- น้ำมันพืช (สำหรับทากระทง)
วิธีทำขนมเข่ง
- เตรียมกระทงโดยนำกระทงใบตองแห้งทาด้วยน้ำมันพืชให้ทั่ว เพื่อป้องกันขนมติดเมื่อสุกแล้ว
- นวดแป้งข้าวเหนียวกับน้ำจนเข้ากันดี จากนั้นเติมน้ำตาลปี๊บแล้วนวดต่อให้แป็นเนื้อเดียวกัน
- เมื่อส่วนผสมแป้งเข้ากันดีแล้ว ใส่มะพร้าวขูดลงไปผสมให้เข้ากันอีกครั้ง
- จัดเรียงชุดนึ่งขนมลงในซึ้ง โดยนำกระทงใบตองเรียงซ้อนในเข่งทำขนมเข่ง ตักส่วนผสมแป้งที่เตรียมไว้ใส่กระทง โดยให้ส่วนผสมสูงประมาณ 3/4 ของกระทง
- จากนั้นนำไปนึ่งบนซึ้งที่รองน้ำเดือด นึ่งด้วยไฟแรง ใช้เวลาประมาณ 1/2 ชั่วโมง
- เมื่อครบตามเวลาแล้ว ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนขนมเย็น พร้อมเสิร์ฟ
เกร็ดความรู้ : คนโบราณ จะสังเกตว่านึ่งขนมได้ที่แล้ว โดยการจุดธูปเพื่อจับเวลาขณะนึ่งขนม โดยใช้เวลาในการนึ่งขนมเท่ากับ ชั่วเวลาที่ธูปหมดดอก
สำหรับสูตรขนมเข่งสูตรนี้นั้น รับรองได้เลยว่าแป้งนุ่ม หอม หวาน นุ่มนวล หากรับประทานไม่หมด สามารถนำมาอุ่นโดยการนึ่งให้อุ่น แล้วนำกลับมารับประทานได้เลย หรือหากชอบรับประทานขนมเข่งชุบแป้งทอด ก็สามารถตั้งขนมทิ้งไว้ เมื่อต้องการทอดก็นำมาหั่นเป็นแผ่นหนาประมาณ 0.5 ซม. ชุบแป้งทอดกรอบลงทอดในน้ำมันร้อน ๆ ก็สามารถรับประทานคู่กับน้ำชา ได้รสชาติอร่อยไปอีกแบบ
อ้างอิง : https://cooking.kapook.com/
อ่านบทความ : สูตร ขนมเจาะหู ขนมงานบุญประเพณีสารทเดือนสิบของเมืองปักษ์ใต้